วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เทคนิคการอ่านแบบ Scanning

เมื่อพูดถึงการพัฒนาการอ่านโดยฝึกเทคนิคการอ่านเร็ว หรืออ่านแบบควบคุมเวลาแล้ว ครูก็เลยอยากจะแนะนำเทคนิคการอ่านเพิ่มอีกสักเทคนิคหนึ่งเทคนิคที่เราจะคุยกันในตอนนี้เรียกว่า Scanning ค่ะ Scanning เป็นทักษะการอ่านเร็วที่มีลักษณะคล้ายกับ Skimming ที่ครูแนะนำให้รู้จักกันไปแล้ว คือเป็นการกวาดตาคร่าวๆ อย่างเร็วๆ ไปบนสิ่งที่เราจะอ่านเหมือนกัน ต่างกันก็ตรง Scanning เป็นการกวาดตาอย่างรวดเร็วเพื่อหาเป้าหมายหรือข้อมูลเฉพาะอย่าง เรียกว่าเราต้องมีจุดประสงค์อยู่ในใจอย่างแน่วแน่ว่าเราต้องการรู้หรืออ่านเพื่อค้นหาอะไร โดยปกติเราใช้เทคนิคการอ่านแบบ Scanning กับชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ เช่น การดูประกาศผลสอบ ครูว่าคงไม่มีใครอ่านตั้งแต่ชื่อแรกที่ประกาศ แล้วก็อ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอชื่อของเราหรอกนะ มีไหมที่ใครจะเริ่มต้นอ่านตั้งแต่หมายเลขหนึ่ง นางสาวบุญทิ้ง บุญชิงชัง หมายเลขสอง นายส้มหล่น สุดหม่นหมองไม่มี แต่เราจะใช้เทคนิคการ Scanning คือกวาดตาคร่าวๆ โดยมีเป้าหมายคือชื่อของเราเองอยู่ในใจ แล้วเราก็ Scan หาแต่ชื่อของตัวเองโดยไม่สนใจชื่ออื่นๆที่เราไม่ได้ตั้งใจจะหา หรือการอ่านเพื่อหาความหมายของคำศัพท์ที่ต้องการจากพจนานุกรม เราใช้เทคนิคการ Scan เหมือนกัน คงไม่มีใครเปิดอ่านตั้งแต่คำแรกในหน้าแรกหรอกจริงมั้ย เรามีเป้าหมายว่าเราต้องการหาคำศัพท์คำไหนเราก็ Scan หาคำนั้นเลย นอกจากนี้เรายังใช้เทคนิค Scanning กับการอ่านต่างในชีวิตประจำวันของเราอีก เช่นการค้นหาหัวข้อที่เราต้องการอ่านในหน้าสารบัญ การอ่านเพื่อหาข้อมูลที่ต้องการจากตาราง แผนภูมิ หรือกราฟ ถ้าใครเข้าร้านหนังสือโดยไม่มีเป้าหมายอะไรเลย ก็แค่อยากเข้ามาดูๆ ว่าจะมีหนังสืออะไรน่าสนใจเผื่อจะซื้อกลับไปอ่านสักเล่ม ลองนึกดูสิคะว่าเราจะมีพฤติกรรมอย่างไร คนกลุ่มนี้จะกวาดตาดูคร่าวๆดูชั้นโน้นทีดูชั้นนี้ที เรียกว่าดูไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอหนังสือที่โดนใจ พฤติกรรมแบบนี้นี่แหละคือเทคนิค Skimming ค่ะเอ! ใช้ทักษะการ Skim แล้วจะรู้ไหมเนี่ยว่ามีหนังสืออะไรกันบ้าง รู้สิคะ แต่เป็นความรู้แบบกว้างๆอาจจะรู้ว่ามีหนังสือประเภทไหนบ้างหรือรู้ว่ามีหนังสืออะไรบ้าง แต่บางครั้งที่เราเข้าร้านหนังสือ เรามักจะมีเป้าหมายหรือจุดประสงค์อย่างชัดเจนว่าเราอยากอ่านหนังสืออะไร ( ความจริงครูน่าจะบอกว่าอยากซื้อหนังสืออะไร แต่เดี๋ยวนี้คนเข้าร้านหนังสือเพราะไปอ่านหนังสือเยอะกว่าไปซื้อซะอีก )เราก็ใช้เทคนิค Scanning คือกวาดตาอย่างมีเป้าหมายว่าวันนี้จะมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เราก็จะกวาดตาหาแต่หมวดภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเป้าหมายของเราหมวดอื่นๆ เราก็มองผ่านไป นั่นแน่เจอแล้วหมวดภาษาอังกฤษที่เราอยากอ่าน แต่ที่หมวดนี้ก็มีหนังสืออีกเยอะมากๆ จะทำยังไงดีล่ะ เราก็ต้องใช้เทคนิคการ Scan ต่ออีกแล้ว เราต้องรู้ว่าเป้าหมายหรือหนังสือที่เราจะมาอ่านในวันนี้คืออะไร สมมุติอยากมาอ่านหนังสือ “ ไม่อยากท่องจำ...จะทำไงดี?” ของอาจารย์พนิตนาฏเราก็จะ Scanหาแต่เล่มที่เราต้องการเท่านั้น ถ้าสายตาจะบังเอิญไปเจอหนังสือภาษาอังกฤษเล่มอื่นๆ ก็จะไม่สนใจ แต่จะกวาดตาอย่างเร็วๆ จนเจอเล่มที่เราต้องการค่ะ ฟังๆดูแล้วหลายคนคงอยากจะบอกครูว่าอาจารย์ขา ทำไมอาจารย์พูดเรื่องนี้ล่ะคะ ก็เรื่องนี้มันแสนจะธรรมดา พวกเราทำอย่างนี้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ก็นั่นน่ะซิ ก็ทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แล้วเวลาอ่านภาษาอังกฤษทำไมไม่ทำแบบนี้บ้าง ทำไมไม่ใช้เทคนิค Skim Scan กันบ้าง มาตั้งหน้าตั้งตาอ่านกันทุกตัวอักษร ทุกคำ แล้วก็มาบ่นว่าอ่านหนังสือช้าบ้างล่ะ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องบ้างล่ะเรามาลองใช้เทคนิค Skim Scan อย่างที่ครูแนะนำกันบ้างสิ ถ้าครูจะเทียบตัวอย่างที่ครูพูดในตอนต้นกับการอ่านภาษาอังกฤษของเราก็คงคล้ายๆกับเวลาที่อาจารย์หรือเจ้านายมอบหมายให้เราไปอ่านหรือค้นคว้าข้อมูลอะไรสักอย่างในหนังสือสักเล่ม โอ้โห! เปิดมาตัวหนังสือภาษาอังกฤษเต็มพรืดไปหมดประมาณว่าแค่เห็นหน้าแรกก็เวียนหัวแล้ว เราจะทำยังไงดี ครูแนะนำให้ใช้เทคนิค Skimming ดูค่ะ ( ใครสงสัยหรือไม่ได้อ่าน เทคนิค Skimming ครุขอแนะนำให้ไปหาเมื่อสองตอนที่แล้วอ่านดูนะคะ เพราะครูอธิบายไว้ละเอียดแล้วค่ะ ) เราจะได้เห็นภาพรวมๆ กว้างๆ ของเรื่องที่จะอ่านก่อน ซึ่งเรื่องนี้ครูจะเขียนอธิบายให้ละเอียดในตอนต่อๆไปนะคะ แต่ถ้าใครมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะค้นข้อมูลอะไรหนังสือเล่มนี้เราก้มาใช้เทคนิค Scanning ดีกว่า เราใช้ Scanner เพื่อ Copy โดยเลือกเอาเฉพาะรูปหรือข้อความที่เรากำหนดเป้นเป้าหมายให้เครื่องอ่านเท่านั้น ต่างกับเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งเราไม่สามารถเลือกสำเนาเฉพาะรูปหรือข้อความใดๆ ได้ แต่เราจะได้สำเนาหมดทั้งหน้าเลยเรียกว่าเจ้าเครื่องถ่ายเอกสารเนี่ย ให้ดูอะไรก็ Copy มาหมดทั้งหน้า แต่ Scanner สามารถเลือกสำเนาได้เฉพาะข้อมูลที่เราต้องการ รู้อย่างนั้นแล้วจะเป็นนักอ่านแบบเครื่องถ่ายเอกสาร หรือจะเป็น Scanner ก็ไปเลือกกันเอาเอง

แหล่งที่มา http://dnfe5.nfe.go.th/localdata/webimags/story274scanning-reader.html

จัดทำโดย นายรูดี มะมิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น