วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้

บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบสังคม วัฒนธรรม และกระบวนการเรียนการสอนตามยุคสมัยมาโดยตลอด กล่าวคือ 1) ในยุคสังคมบรรพกาลที่สังคมอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย การสื่อสารและคมนาคมยังมีข้อจำกัด การศึกษาเป็นการเลียนแบบ ทำตามและจดจำจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ บทบาทของครูจึงเป็นผู้จดจำและบอกเล่าให้ผู้เรียนท่องบ่น จดจำและทำตามที่ครูบอก เทคนิควิธีและสื่อต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนจดจำและทำตามได้ง่าย 2) ในยุคสังคมอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ระบบสังคมเป็นสังคมกระจุก โดยมากเกิดขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ระดับนครและมหานคร วิทยาการต่างๆ มีมากมายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระโดยตรงจากความจำและประสบการณ์ของตนได้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนไปเป็นนักออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยการใช้สื่อโสตทัศน์เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระแทนการบอกเล่าและเป็นผู้ให้เนื้อหาสาระด้วยตนเอง และ 3) ยุคสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบันและการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเก่ง และแก้ไขปัญหาได้ ตลอดจนปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี คนมีความสุข และรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็นนักจัดและออกแบบระบบการเรียนการสอน นักจัดการสารสนเทศ นักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา นักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และเป็นนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ครูในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน
การจัดระบบและการออกแบบระบบการเรียนการสอน เป็นขอบข่ายงานโดยตรงของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และเป็นบทบาทของครูที่ต้องการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ หรือผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้เพราะลักษณะของกิจกรรม สื่อ และกระบวนการในรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการจัดระบบ หรือออกแบบระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม การเรียนการสอนนั้นๆ ก็จะประสบกับความล้มเหลวได้ง่าย ครูจึงจำเป็นต้องมีความสามารถและความชำนาญในการวิเคราะห์ระบบการเรียนการสอนเดิม การสังเคราะห์ระบบ การสร้างแบบจำลองระบบเพื่อการสื่อสารและการตรวจสอบ และการทดสอบระบบในเบื้องต้นก่อนนำไปใช้
2. ครูในฐานะนักจัดการสารสนเทศ
สารสนเทศในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน สื่อสารผ่านเครือข่ายและโทรคมนาคม แหล่งสื่อเครือข่ายกระจายสารโลก เครือข่ายอินเทอร์เนตและเวบไซต์ ล้วนแต่เป็นแหล่งสารสนเทศมากมายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าครูไม่รู้จักแหล่งสารสนเทศเหล่านี้ หรือไม่รู้จักเลือกสรร จัดเก็บ และเตรียมเชื่อมโยงในการใช้ที่เหมาะสมแล้ว การเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเองก็จะประสบกับความล้มเหลว เพราะผู้เรียนจะถูกท่วมทับด้วยสารสนเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือสารสนเทศที่ดึงผู้เรียนออกนอกเส้นทางการเรียน กลายเป็นสื่อนำผู้เรียนออกนอกบทเรียนไป
3. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา
การเรียนการสอนในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารนี้ ครูไม่สามารถจะใช้สื่อโสตทัศน์ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ได้เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อความคิด ความต้องการ และการสร้างสรรค์ของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ครูจำเป็นต้องรู้แหล่งสื่อการศึกษา เช่น แหล่งสื่อชุมชนทุกรูปแบบ แหล่งสื่อฐานข้อมูล แหล่งสื่อเวบไซต์ และแหล่งสื่อฐานความรู้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ครูจะต้องสามารถจัดระบบการใช้ การสื่อสาร และการเชื่อมโยงกับแหล่งสื่อเหล่านั้น และสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
4. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา
สภาพแวดล้อมทางการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะสภาพแวดล้อม ทางการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำเข้าสู่บทเรียน สื่อจุดประกายความคิดของผู้เรียน และเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางและขอบข่ายการเรียนของผู้เรียน ครูจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ความสามารถในการออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เรียน
5. ครูในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน
การแนะแนวการเรียนเป็นบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะถ้าครูแสดงบทบาทเป็นผู้สอนเมื่อใด การที่จะมุ่งหวังให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองก็จะไม่บรรลุเป้าหมายได้ ผู้เรียนก็จะเป็นได้แต่เพียงนักจำและผู้ทำตามคำบอกของครูเท่านั้น การเป็นนักแนะแนวที่มีความสามารถย่อมสามารถวางแผนการเรียนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขต และทิศทางการเรียนแต่ละบทเรียนได้แม่นยำ ซึ่งจะเป็นผลให้ครูสามารถจัดการและเตรียมสื่อและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียนได้เหมาะสมกับบทเรียนด้วย
การใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครูจะต้องมีบทบาทในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน ในฐานะนักจัดการสารสนเทศ ในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา ในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน

แหล่งที่มา http://service.acn.ac.th/km/?p=201

จัดทำโดย นายซาห์บุดดีน หะยีอาหวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น