วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จากวันสิ่งแวดล้อมโลกถึงสิ่งแวดล้อมศึกษา

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและคล้ายกันทั่วทั้งโลก ประเทศและองค์กรต่าง ๆ จึงคิดค้นหาแนวทางการแก้ไขกันเรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2491( 60ปีที่แล้ว) ได้มีการกล่าวถึงคำว่า “สิ่งแวดล้อมศึกษา” เป็นครั้งแรกในการประชุมสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ณ กรุงปารีส ต่อมาใน พ.ศ. 2513 ได้มีการประชุมที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมศึกษาในหลักสูตรโรงเรียน” จึงเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างกว้างขวาง
ถ้ามองภาพกว้างตามที่องค์การ UNESCO ระบุว่า สิ่งแวดล้อมศึกษา คือ แนวทางในการส่งเสริมเป้าหมายการป้องกันสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเชื่อมโยงความสัมพันธ์เข้าสู่การศึกษา สรุปได้ว่า คือกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียนในรูปของ SKAPA Model คือ นักเรียนมีทักษะ ( Skill ) ในการระบุ คาดการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นักเรียนมีความรู้ ( Knowledge) โดยได้รับประสบการณ์และแสวงหาความเข้าใจเบื้องต้นในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนักเรียนมีเจตคติ ( Attitude ) เกิดค่านิยมและความรู้สึกห่วงใยสิ่งแวดล้อม นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม ( Participation ) ในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และนักเรียนเกิดความตระหนัก ( Awareness ) ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว
อย่างไรก็ตามการจะเกิดผลตามจุดประสงค์ดังกล่าวนั้นโรงเรียนจะต้องจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับมาตรฐานการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ได้แล้วจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายหลักของสิ่งแวดล้อมศึกษา 3 ประการ
คือ การศึกษาในสิ่งแวดล้อม (Education in the environment ) การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม(Education about the environment ) และการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม (Education for the environment )
วันที่5มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าโรงเรียนเริ่มจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในวันนี้ (ภาคเรียนที่ 1 ) โดยจัดอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงไปหาวันสิ่งแวดล้อมไทย วันที่ 4 ธันวาคม (ภาคเรียนที่ 2) นักเรียนก็จะมีพัฒนาการตาม SKAPA Model ซึ่งถือว่า “ประจักษ์พยานการสอน ” ที่สำคัญของครู


จัดทำโดย นายมูหมัดรสดี แวดาโอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น