วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงงานที่เกิดจากความสงสัย

มีใครรู้จัก “ต้อยติ่ง” บ้าง? หลายคนอาจจะไม่รู้จักดอกไม้ริมทางสีม่วงที่มีฝักสีน้ำตาลรอวันระเบิดเมื่อสัมผัสน้ำ ขณะที่หลายคนก็อาจจะเคยมีความทรงจำดีๆ กับการเล่นปาระเบิดฝักต้อยติ่ง แต่เด็กกลุ่มหนึ่งไม่เพียงแค่เก็บความสนุกสนานไว้ แต่แปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจสร้างผลงานวิทยาศาสตร์เพื่อไขความลับของวัชพืชที่ดูไร้ค่า จนได้รับรางวัลบนเวทีโลกเมื่อเร็วๆ นี้
นายครองรัฐ สุวรรณศรี(กอล์ฟ) นายทะนงศักร ชินอรุณชัย(พุ) และนายสุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์(เฟริส) 3 เยาวชนคนเก่งที่เพิ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้นำความสงสัยเกี่ยวกับการแตกของฝักต้อยติ่งที่พบเห็นอยู่ดาษดื่นในโรงเรียนมาแปรเปลี่ยนเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อภาษาไทยง่ายๆ ว่า “การแตกตัวของต้อยติ่ง” และชื่อภาษาอังกฤษเก๋ๆ ว่า “Dehiscence and Dispersal of the Popping Pod Ruelia tuberose L.”
โครงงานดังกล่าวเพิ่งคว้ารางวัลแกรนด์อะวอร์ดอันดับ 2 สาขาพฤกษศาสตร์ในการประกวดอินเทล ไอเซฟ 2006 (Intel International Science and Engineering Fair: Intel ISEF 2006) ณ เมืองอินเดียนาโปลิส รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-18 พ.ค.ที่ผ่านมา จากการไขความลับของวัชพืชที่อยู่รอบตัวด้วยศาสตร์ทางฟิสิกส์และชีววิทยาผ่านอุปกรณ์ที่แสนจะเรียบง่าย หากแต่ต้องใช้การออกแบบการทดลองที่ยากกว่า
ทั้งนี้สิ่งที่พวกเขาสงสัยคือลักษณะการแตกตัวของฝักต้อยติ่งและการกระจายของเมล็ดนั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่พยายามช่วยกันวิเคราะห์ด้วยหลักการทางชีววิทยาแล้ว กอล์ฟซึ่งมีความถนัดทางด้านฟิสิกส์จึงได้พยายามเชื่อมโยงการแก้ปัญหาด้วยฟิสิกส์ โดยใช้ “ฐานวงกลม” รัศมี 4.5 เมตรในการวัดการกระจายของเมล็ดว่ากระเด็นไปได้ไกลเท่าไหร่ ซึ่งจะใช้เชือกขดเป็นวงกลมเป็นระยะๆ ห่างกัน 10 เซนติเมตร
“การออกแบบการทดลอง แรกๆ ก็ลองผิดลองถูก หาเปเปอร์ (เอกสารงานวิจัย) แต่หาไม่ค่อยได้ เพราะไม่ค่อยมีคนทำ เราก็เริ่มจากเอาฝักมาตัดตรงนั้นตรงนี้ ลองหยดน้ำใส่ฝักดู แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย กลไกในการแตกเป็นอย่างไร กลไกในการกระจายตัวของเมล็ดเป็นอย่างไร มีการแบ่งพลังงานกันอย่างไร ก็พยายามตั้งสมมติฐานซึ่งนำไปสู่การทดลองจริงๆ” ทั้ง 3 ช่วยให้ความเห็น
จากการทำโครงงานทำให้พวกเขาเข้าใจธรรมชาติของต้อยติ่งว่าฝักต้อยติ่งจะโตเรื่อยๆ เพื่อรอน้ำ และลักษณะการกระจายพันธุ์ดังกล่าวเป็นการตรวจสภาพความพร้อมของสิ่งแวดล้อมเพื่อดูว่าเหมาะกับที่ต้นอ่อนจะโตได้ เมื่อถึงหน้าฝนหรือช่วงเวลาที่ความชื้นพอเหมาะ ฝักก็จะแตก เป็นเหตุผลว่าทำไมต้อยติ่งถึงเป็นวัชพืชที่กระจายตัวได้ไกล แม้ว่าทางโรงเรียนจะพยายามกำจัดก็ไม่หมด
นอกจากนี้พวกเขายังกล่าวถึงโครงงานด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นโครงงานที่เกิดจากความสงสัยของพวกเขาจริงๆ และทำไปด้วยความอยากรู้ ทั้งนี้โครงงานจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยไขความสงสัยให้กับเขาได้ โดยก่อนหน้านี้พวกเขาคิดจะทำโครงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแบคทีเรียแต่ไม่ใช่โครงงานที่สนใจจริงๆ และผลจากการทำโครงงานนี้ยังทำให้ทางโรงเรียนเห็นความสำคัญของวัชพืชที่ดูไร้ค่า โดยเก็บเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนด้วย

แหล่งที่มา http://www.eschool.su.ac.th/admin/articleadm.php?no=42&code=y


จัดทำโดย นายฮีซามดีน หะยีอาหวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น