วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คติธรรมจากดินสอ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปเป็นกรรมการคุมสอบ O – NET ของนักเรียนระดับช่วงชั้นที่ 3 ในต่างโรงเรียนภายในจังหวัด และมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศการสอบที่ต้องใช้ดินสออีกครั้งหนึ่ง ได้นั่งคิดว่ามีใครบ้างไหมที่ใช้ดินสอจนหมดแท่ง อาจเพราะดินสอเป็นสิ่งของราคาไม่แพง ผู้คนจึงไม่สนใจและใช้กันทิ้งขว้าง บ่อยครั้งที่เห็นดินสอนับโหลถูกเจ้าของทิ้งอย่างไม่มีเยื่อใย ไม่เหมือนปากกาด้ามแพงที่เสียบไว้ใกล้หัวใจ หรือว่าราคามักมาพร้อมกับคุณค่าเสมอ
ถ้ามองให้ดี ดินสอมีคุณค่าที่ปากกาไม่มีอยู่ประการสำคัญ สิ่งนั้นคือโอกาสในการแก้ตัว หากใช้ปากกาขีดเขียนสิ่งใดแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้น สิ่งที่จะต้องทำต่อมาคือการขีดฆ่าปลิดชีพตัวหนังสือที่ทำผิด หรือไม่ก็เอาน้ำยาลบคำผิดสีขาว ๆ ป้ายทับ อาจเป็นการหมก หรือซุกซ่อนความผิดเอาไว้ก็ได้ แต่ถึงจะลบหรือซ่อนอย่างไรก็จะมีรอยให้ได้เห็นอยู่ดี หรืออาจต้องตัดสินใจขยำกระดาษแผ่นนั้น โยนใส่ถังทำให้กระดาษกลายเป็นขยะไปโดยง่าย
แต่ถ้าขีดเขียนด้วยดินสอกระดาษจะไม่ถูกลงโทษสถานหนักถึงเพียงนั้น หากพอเราลบข้อความที่ผิดนั้นด้วยยางลบ เพราะดินสอให้โอกาสแก้ตัวเสมอ ดินสอยังเปิดโอกาสให้เราทดลองทำในสิ่งที่อยากทำ เขียนในสิ่งที่อยากเขียน วาดในสิ่งที่อยากวาด อาจเริ่มต้นจากการ “ ร่าง ” ขึ้นมาก่อนที่จะลงเส้นหนัก เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้กระดาษช้ำเวลาลบเส้นดินสอทิ้ง
ดินสอจึงเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้เริ่มต้น เด็กตัวเล็ก ๆ จึงได้ใช้ดินสอก่อนที่จะรู้จักกับปากกา จึงไม่แปลกที่จิตรกรทั้งหลายรักที่จะใช้ดินสอมากกว่าปากกา ในการเริ่มต้นวาดรูป ดินสอจึงมีวิญญาณของศิลปะซ่อนตัวอยู่ในตัว มีความยืดหยุ่น มีวิญญาณแห่งการทดลอง สร้างสรรค์ อิสระ ใจกว้าง และที่สำคัญ ดินสอมีชีวิต เหมือนกับไส้ดินสอที่หดสั้นลง เหมือนแท่งไม้ที่ยิ่งเหลาก็ยิ่งหด ภาพหรือตัวหนังสือที่เกิดขึ้นจากดินสอก็ไม่จีรังยั่งยืน พร้อมที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา หากใครสักคนจรดดินสอลากเส้นวาดภาพหรือเขียนถ้อยคำไว้บนกระดาษสักแผ่น เมื่อวันคืนผ่านไปกระดาษแผ่นนั้นจะกลับกลายไปเป็นกระดาษที่คล้ายกับว่าไม่เคยมีใครขีดเขียนอะไรลงไปบนมันมาก่อน กลับคืนสู่กระดาษเปล่าอีกครั้ง เหลือไว้เพียงรอยเลือน ๆ ของเส้นดินสอที่เคยลากไว้
หากใช้ดินสอบ่อย ๆ เราจะค้นพบปรัชญาที่ติดมากับแท่งดินสออีกหนึ่งอย่างคือ อยากให้ดินสอแหลมได้นั้นมี 2 วิธี หนึ่ง คือการเหลา ซึ่งการเหลาเปรียบได้กับการหาวิชาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาสมองให้แหลมคม สองคือการใช้ดินสอเหลาตัวเอง ด้วยวิธีการหมุนรอบตัวเอง หากใช้บ่อย ๆ หัวสมองก็จะแหลมพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ข้อคิดจากดินสอเตือนเราเสมอว่าให้หมั่นเหลามันให้แหลมอยู่เสมอ และอย่าเผลอไผลใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะยิ่งใช้มากดินสอก็ยิ่งสั้นลง และสั้นลงนะคะ

แหล่งที่มา http://service.acn.ac.th/km/?p=266

จัดทำโดย นายพิทยา ตอหอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น