วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงงานที่เกิดจากความสงสัย

มีใครรู้จัก “ต้อยติ่ง” บ้าง? หลายคนอาจจะไม่รู้จักดอกไม้ริมทางสีม่วงที่มีฝักสีน้ำตาลรอวันระเบิดเมื่อสัมผัสน้ำ ขณะที่หลายคนก็อาจจะเคยมีความทรงจำดีๆ กับการเล่นปาระเบิดฝักต้อยติ่ง แต่เด็กกลุ่มหนึ่งไม่เพียงแค่เก็บความสนุกสนานไว้ แต่แปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจสร้างผลงานวิทยาศาสตร์เพื่อไขความลับของวัชพืชที่ดูไร้ค่า จนได้รับรางวัลบนเวทีโลกเมื่อเร็วๆ นี้
นายครองรัฐ สุวรรณศรี(กอล์ฟ) นายทะนงศักร ชินอรุณชัย(พุ) และนายสุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์(เฟริส) 3 เยาวชนคนเก่งที่เพิ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้นำความสงสัยเกี่ยวกับการแตกของฝักต้อยติ่งที่พบเห็นอยู่ดาษดื่นในโรงเรียนมาแปรเปลี่ยนเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อภาษาไทยง่ายๆ ว่า “การแตกตัวของต้อยติ่ง” และชื่อภาษาอังกฤษเก๋ๆ ว่า “Dehiscence and Dispersal of the Popping Pod Ruelia tuberose L.”
โครงงานดังกล่าวเพิ่งคว้ารางวัลแกรนด์อะวอร์ดอันดับ 2 สาขาพฤกษศาสตร์ในการประกวดอินเทล ไอเซฟ 2006 (Intel International Science and Engineering Fair: Intel ISEF 2006) ณ เมืองอินเดียนาโปลิส รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-18 พ.ค.ที่ผ่านมา จากการไขความลับของวัชพืชที่อยู่รอบตัวด้วยศาสตร์ทางฟิสิกส์และชีววิทยาผ่านอุปกรณ์ที่แสนจะเรียบง่าย หากแต่ต้องใช้การออกแบบการทดลองที่ยากกว่า
ทั้งนี้สิ่งที่พวกเขาสงสัยคือลักษณะการแตกตัวของฝักต้อยติ่งและการกระจายของเมล็ดนั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่พยายามช่วยกันวิเคราะห์ด้วยหลักการทางชีววิทยาแล้ว กอล์ฟซึ่งมีความถนัดทางด้านฟิสิกส์จึงได้พยายามเชื่อมโยงการแก้ปัญหาด้วยฟิสิกส์ โดยใช้ “ฐานวงกลม” รัศมี 4.5 เมตรในการวัดการกระจายของเมล็ดว่ากระเด็นไปได้ไกลเท่าไหร่ ซึ่งจะใช้เชือกขดเป็นวงกลมเป็นระยะๆ ห่างกัน 10 เซนติเมตร
“การออกแบบการทดลอง แรกๆ ก็ลองผิดลองถูก หาเปเปอร์ (เอกสารงานวิจัย) แต่หาไม่ค่อยได้ เพราะไม่ค่อยมีคนทำ เราก็เริ่มจากเอาฝักมาตัดตรงนั้นตรงนี้ ลองหยดน้ำใส่ฝักดู แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย กลไกในการแตกเป็นอย่างไร กลไกในการกระจายตัวของเมล็ดเป็นอย่างไร มีการแบ่งพลังงานกันอย่างไร ก็พยายามตั้งสมมติฐานซึ่งนำไปสู่การทดลองจริงๆ” ทั้ง 3 ช่วยให้ความเห็น
จากการทำโครงงานทำให้พวกเขาเข้าใจธรรมชาติของต้อยติ่งว่าฝักต้อยติ่งจะโตเรื่อยๆ เพื่อรอน้ำ และลักษณะการกระจายพันธุ์ดังกล่าวเป็นการตรวจสภาพความพร้อมของสิ่งแวดล้อมเพื่อดูว่าเหมาะกับที่ต้นอ่อนจะโตได้ เมื่อถึงหน้าฝนหรือช่วงเวลาที่ความชื้นพอเหมาะ ฝักก็จะแตก เป็นเหตุผลว่าทำไมต้อยติ่งถึงเป็นวัชพืชที่กระจายตัวได้ไกล แม้ว่าทางโรงเรียนจะพยายามกำจัดก็ไม่หมด
นอกจากนี้พวกเขายังกล่าวถึงโครงงานด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นโครงงานที่เกิดจากความสงสัยของพวกเขาจริงๆ และทำไปด้วยความอยากรู้ ทั้งนี้โครงงานจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยไขความสงสัยให้กับเขาได้ โดยก่อนหน้านี้พวกเขาคิดจะทำโครงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแบคทีเรียแต่ไม่ใช่โครงงานที่สนใจจริงๆ และผลจากการทำโครงงานนี้ยังทำให้ทางโรงเรียนเห็นความสำคัญของวัชพืชที่ดูไร้ค่า โดยเก็บเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนด้วย

แหล่งที่มา http://www.eschool.su.ac.th/admin/articleadm.php?no=42&code=y


จัดทำโดย นายฮีซามดีน หะยีอาหวัง

การเลือกของเล่นเด็ก เสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

การเลือกของเล่นให้เด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และผลต่อพัฒนาการที่จะตามมา ในขณะที่ผู้ผลิตของเล่นต่างแข่งขันผลิตออกมาขายจำนวนมาก บางครั้งผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ใดที่เหมาะกับเด็ก หรือแม้แต่คำอธิบายจากตัวสินค้าก็ไม่ละเอียดพอที่จะเข้าใจ ทำให้บางคนซื้อของเล่น ให้ลูกเพราะคิดว่ามันน่าจะดีเท่านั้น
รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัย นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตและพัฒนาการทุกๆ ด้านของมนุษย์ ทั้งนี้ การเล่นและของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย นับเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และความต้องการของเด็กวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ควรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของการเล่นและของเล่นที่เหมาะสม
"เด็กจะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนเล่นหรือของเล่น โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองและมีผู้คอยชี้แนะให้ข้อมูลหรือสอนให้รู้จักคำบอกของชื่อเรียกสิ่งต่างๆรอบตัว หรือความหมายของสิ่งเหล่านั้นทีละเล็กละน้อย จากเรื่องที่ง่ายๆไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามความสามารถของวัย"
การเลือกของเล่นที่ดีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตามศักยภาพของเด็ก จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากของเล่นเป็นสื่อกลางช่วยเปิดโลกภายในของเด็กออกสู่ภายนอก ทำให้เด็กได้ค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตนเองด้วยตนเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น ทว่าการเล่นของเล่นจะปราศจากความหมาย หากเด็กไม่ได้รับความสนใจเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนการชี้แนะหรือเล่นร่วมกับเด็กเมื่อเด็กต้องการ
รศ.ดร.จิตตินันท์ แนะนำหลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างง่ายๆ 4 ข้อคือ
1. ต้องดูที่ความปลอดภัยในการเล่นของเล่นอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับผิวสัมผัสที่แหลมคมหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก
2.ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการ ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว
3.ประสิทธิภาพในการใช้เล่น ควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุและความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไปจะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็กและทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้ และ
4.ความประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

แหล่งที่มา http://www.eschool.su.ac.th/admin/articleadm.php?no=41&code=y

จัดทำโดย นางสาวฟาตีเม๊าะ เกะมาซอ

เศรษฐกิจพอ เพียงกับการศึกษา

“เศรษฐกิจพอเพียง” สมดุล แห่งชีวิต
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็น ปรัชญาที่พระราชทานให้คนไทยใช้เป็นหลักคิดและหลัก ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดสมดุลในชีวิต ในครอบครัว ในโรงเรียน ในประเทศ โดยตั้งสมมุติ-ฐาน ที่ว่าทุกสิ่งอนิจจัง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ทั้งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงมาจากนอกประเทศ กับในประเทศ นอกโรงเรียนกับในโรงเรียน นอกครอบครัวกับในครอบครัวแล้วทรงชี้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบ 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และทางวัฒนธรรม
“คุณธรรม” รากเศรษฐกิจพอเพียง
ภูมิคุ้มกันในตัวเราที่ดีก็คือ Empowerment คือ ทำให้เข้มแข็ง เข้มแข็งทางการเงิน ก็คือว่า ครอบครัวต้องมีเงินออม ไม่ใช่มีหนี้ ถ้ามีหนี้ก็คือ เป็นเรื่องของ ความอ่อนแอ แต่ถ้ามีเงินออมมากก็เป็นเรื่องของความเข้มแข็ง โดยมีเงื่อนไข สำคัญคือเรื่องคุณธรรม เพราะการที่คนขี้โกงเอาเงินไปใช้แล้วก็ประสบความสุข ความร่ำรวย ซึ่งผิดกับหลักการดังกล่าว เพราะผิดเงื่อนไข คือ เรื่องคุณธรรม โรงเรียนไหนจะเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จะต้องไปสร้างคุณธรรมใน โรงเรียนก่อน ตั้งแต่ผู้อำนวยการลงไปถึงภารโรง เด็กทุกคน ครูทุกคน ต้องมี คุณธรรม
3 องค์ประกอบ บันไดสู่เป้าหมาย
องค์ประกอบของความ พอเพียงมี 3 องค์ประกอบ คือ
1. ความพอประมาณไม่สุดโต่ง จะลง ทุน จะซื้อของ ต้องพอประมาณ
2. ต้องมีเหตุผลอธิบายได้
3. ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยน แปลงทั้งภายนอกภายใน
3 เงื่อนไขหัวใจหลัก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง มีพระราชดำรัสถึงแนวทางการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้ผลดีว่ามี 3 เงื่อนไข คือ
1. หลักวิชา โดย พระองค์ท่านจะทำอะไร ทรงอาศัยหลักวิชาเสมอ ไม่ได้ทำตามอารมณ์ ไม่ได้ทำตามกระแส ไม่ได้ตัดสินใจตามผลประโยชน์ของใคร แต่ใช้หลักวิชาเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคน
2. เงื่อนไข คุณธรรม ต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต
3. เงื่อนไขในการดำเนินชีวิต ต้องรอบรู้ ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน เรื่อง ความเพียร

การพิจารณาที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นๆ ต้องเกิดฉันทะในนั้น พอรู้หมด รู้วิธีแก้ปัญหาแล้วท้อ ฝืนทำก็ไม่ได้งาน แต่เมื่อรู้ปัญหาแล้ว ต้องสร้าง ฉันทะ สามัคคี-หลังจากนั้น แล้วพอจะลงมือทำ การลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำร่วมกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลัง จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ด้วยดี.

แหล่งที่มา http://www.eschool.su.ac.th/admin/articleadm.php?no=40&code=y

จัดทำโดย นายมูฮำหมัด อุมาร์

บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้

บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบสังคม วัฒนธรรม และกระบวนการเรียนการสอนตามยุคสมัยมาโดยตลอด กล่าวคือ 1) ในยุคสังคมบรรพกาลที่สังคมอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย การสื่อสารและคมนาคมยังมีข้อจำกัด การศึกษาเป็นการเลียนแบบ ทำตามและจดจำจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ บทบาทของครูจึงเป็นผู้จดจำและบอกเล่าให้ผู้เรียนท่องบ่น จดจำและทำตามที่ครูบอก เทคนิควิธีและสื่อต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนจดจำและทำตามได้ง่าย 2) ในยุคสังคมอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ระบบสังคมเป็นสังคมกระจุก โดยมากเกิดขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ระดับนครและมหานคร วิทยาการต่างๆ มีมากมายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระโดยตรงจากความจำและประสบการณ์ของตนได้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนไปเป็นนักออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยการใช้สื่อโสตทัศน์เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระแทนการบอกเล่าและเป็นผู้ให้เนื้อหาสาระด้วยตนเอง และ 3) ยุคสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบันและการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเก่ง และแก้ไขปัญหาได้ ตลอดจนปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี คนมีความสุข และรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็นนักจัดและออกแบบระบบการเรียนการสอน นักจัดการสารสนเทศ นักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา นักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และเป็นนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ครูในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน
การจัดระบบและการออกแบบระบบการเรียนการสอน เป็นขอบข่ายงานโดยตรงของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และเป็นบทบาทของครูที่ต้องการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ หรือผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้เพราะลักษณะของกิจกรรม สื่อ และกระบวนการในรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการจัดระบบ หรือออกแบบระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม การเรียนการสอนนั้นๆ ก็จะประสบกับความล้มเหลวได้ง่าย ครูจึงจำเป็นต้องมีความสามารถและความชำนาญในการวิเคราะห์ระบบการเรียนการสอนเดิม การสังเคราะห์ระบบ การสร้างแบบจำลองระบบเพื่อการสื่อสารและการตรวจสอบ และการทดสอบระบบในเบื้องต้นก่อนนำไปใช้
2. ครูในฐานะนักจัดการสารสนเทศ
สารสนเทศในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน สื่อสารผ่านเครือข่ายและโทรคมนาคม แหล่งสื่อเครือข่ายกระจายสารโลก เครือข่ายอินเทอร์เนตและเวบไซต์ ล้วนแต่เป็นแหล่งสารสนเทศมากมายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าครูไม่รู้จักแหล่งสารสนเทศเหล่านี้ หรือไม่รู้จักเลือกสรร จัดเก็บ และเตรียมเชื่อมโยงในการใช้ที่เหมาะสมแล้ว การเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเองก็จะประสบกับความล้มเหลว เพราะผู้เรียนจะถูกท่วมทับด้วยสารสนเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือสารสนเทศที่ดึงผู้เรียนออกนอกเส้นทางการเรียน กลายเป็นสื่อนำผู้เรียนออกนอกบทเรียนไป
3. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา
การเรียนการสอนในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารนี้ ครูไม่สามารถจะใช้สื่อโสตทัศน์ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ได้เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อความคิด ความต้องการ และการสร้างสรรค์ของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ครูจำเป็นต้องรู้แหล่งสื่อการศึกษา เช่น แหล่งสื่อชุมชนทุกรูปแบบ แหล่งสื่อฐานข้อมูล แหล่งสื่อเวบไซต์ และแหล่งสื่อฐานความรู้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ครูจะต้องสามารถจัดระบบการใช้ การสื่อสาร และการเชื่อมโยงกับแหล่งสื่อเหล่านั้น และสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
4. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา
สภาพแวดล้อมทางการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะสภาพแวดล้อม ทางการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำเข้าสู่บทเรียน สื่อจุดประกายความคิดของผู้เรียน และเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางและขอบข่ายการเรียนของผู้เรียน ครูจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ความสามารถในการออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เรียน
5. ครูในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน
การแนะแนวการเรียนเป็นบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะถ้าครูแสดงบทบาทเป็นผู้สอนเมื่อใด การที่จะมุ่งหวังให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองก็จะไม่บรรลุเป้าหมายได้ ผู้เรียนก็จะเป็นได้แต่เพียงนักจำและผู้ทำตามคำบอกของครูเท่านั้น การเป็นนักแนะแนวที่มีความสามารถย่อมสามารถวางแผนการเรียนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขต และทิศทางการเรียนแต่ละบทเรียนได้แม่นยำ ซึ่งจะเป็นผลให้ครูสามารถจัดการและเตรียมสื่อและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียนได้เหมาะสมกับบทเรียนด้วย
การใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครูจะต้องมีบทบาทในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน ในฐานะนักจัดการสารสนเทศ ในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา ในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน

แหล่งที่มา http://service.acn.ac.th/km/?p=201

จัดทำโดย นายซาห์บุดดีน หะยีอาหวัง

“ทำอย่างไรให้คนเก่งกลับมาเรียนครู” (มิสปนัดดา)

ทำอย่างไรให้คนเก่งกลับมาเรียนครูเชื่อว่าวิธีการที่จะทำให้คนเก่งกลับมาเรียนครูนั้นมีแน่และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะใช้งบประมาณไม่มากเหมือนกับการเพิ่มเงินเดือน/สวัสดิการให้กับครู ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลอยากให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาว่าทำไมคนเก่งจึงนิยมสอบเข้านายร้อยไม่ว่าจะเป็นนายร้อยทหารหรือนายร้อยตำรวจ จะว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่สบาย น่าสนุกคำตอบก็คงไม่ใช่ ทั้งนี้ เพราะนักเรียนนายร้อยขณะเรียนต้องลำบากตรากตรำ ต้องฝึกอย่างหนักกลางแดด กลางฝน ขณะออกไปทำงานก็ต้องเสี่ยงภัยอันตรายทั้งต่อร่างกายและชีวิต อาชีพนี้มันน่าสนุกตรงไหนอาชีพครูเป็นอาชีพที่น่าจะสนุกกว่าอาชีพทหาร-ตำรวจ เพราะแต่ละวันจะพบกับเด็กๆ ซึ่งมีความน่ารักอยู่ในตัว แล้วทำไมคนเก่งจึงนิยมเลือกที่จะเข้าเรียนนายร้อยทหาร-ตำรวจ แทนที่จะเลือกเรียนอาชีพครูคำตอบง่ายๆ ก็คือเหตุที่คนเก่งนิยมเรียนนายร้อยทหาร-ตำรวจก็เพราะจบแล้วมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์ขณะเรียนก็มีเงินเดือน มีหอพักให้พักฟรี แถมอายุราชการก็ยังเริ่มนับให้ตั้งแต่เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารหากอาชีพครูทำได้เช่นเดียวกันนี้ คือ ต่อไปถ้าใครเรียนครูแล้วมีหลักประกันว่าจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับนักเรียนนายร้อยขณะเรียนก็มีเงินเดือนให้มีหอพักให้และนับอายุราชการให้ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนครู แล้วอย่างนี้คนเก่งจะไม่หันกลับมาเรียนครูกันอีกเหรอ สิ่งที่น่ากลัวต่อไปจะไม่ใช่คนเก่งไม่มาเรียนครู แต่จะมีคนแห่มาเรียนครูจำนวนมาก ซึ่งในที่นี่จะรวมทั้งคนเก่งๆด้วย ดังนั้น จึงต้องหาวิธีจำกัดจำนวนคนที่จะเรียนครูว่าแต่ละปีจะสามารถรับครูได้เท่าไร ซึ่งคงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าประเทศมีความต้องการครูเท่าไร สาขาอะไรบ้าง จะต้องทำการศึกษา/วิจัยว่าในอนาคต ( 5 ปีหรือ 10 ปี) จะมีครูเกษียณปีละกี่คน จะมีนโยบายให้ครู early retireอีกไหม ถ้ามีจะให้มีปีละเท่าไร แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนกำหนดจำนวนนักศึกษาครูที่จะสามารถรับได้ในแต่ละปี เมื่อได้จำนวนนักศึกษาครูที่จะรับในแต่ละปีแล้วก็ให้จัดสรรโควต้าให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนทางด้านศึกษาศาสตร์/คุรุศาสตร์ โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนตามโควต้าที่กระทรวงจัดให้ในแต่ละครั้งนี้จะถือว่าเป็นนักเรียนทุน โดยนักเรียนทุนเหล่านี้ควรได้รับสิทธิไม่น้อยกว่าที่นักเรียนนายร้อยได้รับ นั่นคือจะต้องจัดหอพักให้พักฟรี มีเงินทุนให้ขณะเรียน จบแล้วได้งานร้อยเปอร์เซ็นต์ อายุราชการนับให้ตั้งแต่เข้าเรียนครู งบประมาณในส่วนนี้ในแต่ละปีจะใช้ไม่มมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่จะไปเพิ่มเงินเดือน/สวัสดิการให้กับครูทั้งประเทศ ส่วนการที่มหาวิทยาลัยใดจะรับนักศึกษาวิชาครูเกินโควตาที่กระทรวงกำหนด มหาวิทยาลัยนั้นต้องแจ้งให้นักศึกษากลุ่มนั้นทราบล่วงหน้าว่าพวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว แต่เมื่อจบแล้วพวกเขาสามารถประกอบอาชีพครูในสถานศึกษาเอกชนหรืออาจได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการได้หากรัฐมีอัตราครูที่ต้องการรับเพิ่มเติม
แหล่งที่มา http://service.acn.ac.th/km/?p=265

จัดทำโดย นางสาวกุสุมา หะยีมะลี

คติธรรมจากดินสอ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปเป็นกรรมการคุมสอบ O – NET ของนักเรียนระดับช่วงชั้นที่ 3 ในต่างโรงเรียนภายในจังหวัด และมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศการสอบที่ต้องใช้ดินสออีกครั้งหนึ่ง ได้นั่งคิดว่ามีใครบ้างไหมที่ใช้ดินสอจนหมดแท่ง อาจเพราะดินสอเป็นสิ่งของราคาไม่แพง ผู้คนจึงไม่สนใจและใช้กันทิ้งขว้าง บ่อยครั้งที่เห็นดินสอนับโหลถูกเจ้าของทิ้งอย่างไม่มีเยื่อใย ไม่เหมือนปากกาด้ามแพงที่เสียบไว้ใกล้หัวใจ หรือว่าราคามักมาพร้อมกับคุณค่าเสมอ
ถ้ามองให้ดี ดินสอมีคุณค่าที่ปากกาไม่มีอยู่ประการสำคัญ สิ่งนั้นคือโอกาสในการแก้ตัว หากใช้ปากกาขีดเขียนสิ่งใดแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้น สิ่งที่จะต้องทำต่อมาคือการขีดฆ่าปลิดชีพตัวหนังสือที่ทำผิด หรือไม่ก็เอาน้ำยาลบคำผิดสีขาว ๆ ป้ายทับ อาจเป็นการหมก หรือซุกซ่อนความผิดเอาไว้ก็ได้ แต่ถึงจะลบหรือซ่อนอย่างไรก็จะมีรอยให้ได้เห็นอยู่ดี หรืออาจต้องตัดสินใจขยำกระดาษแผ่นนั้น โยนใส่ถังทำให้กระดาษกลายเป็นขยะไปโดยง่าย
แต่ถ้าขีดเขียนด้วยดินสอกระดาษจะไม่ถูกลงโทษสถานหนักถึงเพียงนั้น หากพอเราลบข้อความที่ผิดนั้นด้วยยางลบ เพราะดินสอให้โอกาสแก้ตัวเสมอ ดินสอยังเปิดโอกาสให้เราทดลองทำในสิ่งที่อยากทำ เขียนในสิ่งที่อยากเขียน วาดในสิ่งที่อยากวาด อาจเริ่มต้นจากการ “ ร่าง ” ขึ้นมาก่อนที่จะลงเส้นหนัก เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้กระดาษช้ำเวลาลบเส้นดินสอทิ้ง
ดินสอจึงเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้เริ่มต้น เด็กตัวเล็ก ๆ จึงได้ใช้ดินสอก่อนที่จะรู้จักกับปากกา จึงไม่แปลกที่จิตรกรทั้งหลายรักที่จะใช้ดินสอมากกว่าปากกา ในการเริ่มต้นวาดรูป ดินสอจึงมีวิญญาณของศิลปะซ่อนตัวอยู่ในตัว มีความยืดหยุ่น มีวิญญาณแห่งการทดลอง สร้างสรรค์ อิสระ ใจกว้าง และที่สำคัญ ดินสอมีชีวิต เหมือนกับไส้ดินสอที่หดสั้นลง เหมือนแท่งไม้ที่ยิ่งเหลาก็ยิ่งหด ภาพหรือตัวหนังสือที่เกิดขึ้นจากดินสอก็ไม่จีรังยั่งยืน พร้อมที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา หากใครสักคนจรดดินสอลากเส้นวาดภาพหรือเขียนถ้อยคำไว้บนกระดาษสักแผ่น เมื่อวันคืนผ่านไปกระดาษแผ่นนั้นจะกลับกลายไปเป็นกระดาษที่คล้ายกับว่าไม่เคยมีใครขีดเขียนอะไรลงไปบนมันมาก่อน กลับคืนสู่กระดาษเปล่าอีกครั้ง เหลือไว้เพียงรอยเลือน ๆ ของเส้นดินสอที่เคยลากไว้
หากใช้ดินสอบ่อย ๆ เราจะค้นพบปรัชญาที่ติดมากับแท่งดินสออีกหนึ่งอย่างคือ อยากให้ดินสอแหลมได้นั้นมี 2 วิธี หนึ่ง คือการเหลา ซึ่งการเหลาเปรียบได้กับการหาวิชาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาสมองให้แหลมคม สองคือการใช้ดินสอเหลาตัวเอง ด้วยวิธีการหมุนรอบตัวเอง หากใช้บ่อย ๆ หัวสมองก็จะแหลมพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ข้อคิดจากดินสอเตือนเราเสมอว่าให้หมั่นเหลามันให้แหลมอยู่เสมอ และอย่าเผลอไผลใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะยิ่งใช้มากดินสอก็ยิ่งสั้นลง และสั้นลงนะคะ

แหล่งที่มา http://service.acn.ac.th/km/?p=266

จัดทำโดย นายพิทยา ตอหอ

ชี้ครูวิทย์ฯ ต้องสอนแบบสืบสวน

ผศ.สุนทร โสตถิพันธุ์ ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับชั้นมัธยมศึกษา สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ในฐานะตัวแทนครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ระบบการศึกษาแบบเก่าไม่เหมาะกับการเรียนของเด็กไทยปัจจุบัน ควรปรับหลักสูตรและเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน จากเดิมที่เน้นเนื้อหาในแบบเรียนมาเป็นการสอนที่เน้นการปฏิบัติจริงตามความหมายของวิทยาศาสตร์คือ กระบวนการค้นพบความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติโดยอิงความน่าเชื่อถือ มีกฎเกณฑ์กล่าวอ้าง ใช้ปัญญาสร้างโอกาสให้รู้จักการอ่านคิดตามและลงมือปฏิบัติ ฝึกให้เด็กสังเกตตั้งสมมติฐานและทดลองด้วยตนเอง สอนเสริมเรื่องรอบตัวเพิ่มเติมจากวิชาปกติเพื่อส่งเสริมการคิด โดยอาจสอนแบบสืบสวนเพื่อให้เด็กสนุกกับการเรียนการหาคำตอบจากโจทย์ ส่วนรัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาความรู้บุคลากรและเครื่องมือประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้พัฒนาขีดความสามารถสู่การแข่งขันระดับโลกได้

แหล่งที่มา http://www.moe.go.th/main2/article/article_newspaper/teacher271047.htm

จัดทำโดย นางสาวนิวรรดา เดซี